สิ่งสำคัญของอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก 4 ประการ ประกอบด้วย มรดกทางธรณีวิทยาที่มีคุณค่าระดับนานาชาติ การบริหารจัดการ การรับรู้ของประชาชน และเครือข่าย
1. มรดกทางธรณีวิทยาที่มีคุณค่าระดับนานาชาติ (Geological heritage of international value) ในการเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกจะต้องมีมรดกทางธรณีวิทยาที่มีคุณค่าในระดับนานาชาติ ซึ่งประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นส่วนหนึ่งของคณะประเมินจากยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks Evaluation Team) โดยอาศัยการเห็นชอบร่วมกันของนักธรณีวิทยา (international peer reviewed) มีผลงานวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ที่ศึกษาในแหล่งธรณีวิทยาบริเวณเขตอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์จะทำการประเมินโดยเปรียบเทียบกับแหล่งธรณีวิทยาอื่นๆ ทั่วโลก เพื่อพิจารณาว่าแหล่งธรณีวิทยาเหล่านี้มีคุณค่าในระดับนานาชาติหรือไม่
2. การบริหารจัดการ (Management) อุทยานธรณีโลกของยูเนสโกจะต้องบริหารโดยองค์กรที่ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศองค์กรดังกล่าวควรมีอำนาจหน้าที่ที่เหมาะสมในการดูแลทั้งพื้นที่อุทยานธรณีโลกของยูเนสโก โดยมีองค์ประกอบของผู้ปฏิบัติ และหน่วยงานในท้องถิ่นและภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง อุทยานธรณีโลกของยูเนสโกต้องมีแผนบริหารจัดการที่ได้รับการยอมรับและเห็นชอบจากทุกภาคส่วน แผนดังกล่าวจะต้องตรงกับความต้องการทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในท้องถิ่น มีการคุ้มครองสภาพภูมิประเทศที่พวกเขาอาศัยอยู่ และมีการอนุรักษ์วัฒนธรรมของพวกเขาเหล่านั้นด้วย แผนดังกล่าวยังต้องครอบคลุมและรวบรวมทั้งด้านการบริหาร การพัฒนาการสื่อสาร การคุ้มครองอนุรักษ์ โครงสร้างพื้นฐาน การเงิน และหุ้นส่วนของอุทยานธรณีโลก
3. การรับรู้ของประชาชน (Visibility) อุทยานธรณีโลกของยูเนสโกส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของท้องถิ่นผ่านการท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาเป็นหลัก เพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาในพื้นที่อุทยานธรณีโลกของยูเนสโก ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่อุทยานธรณีโลกของยูเนสโกต้องมีการรับรู้ของประชาชน ทั้งนี้นักท่องเที่ยวตลอดจนประชาชนในท้องถิ่นสามารถหาข้อมูลที่เกี่ยวกับอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกได้ เช่นแสดงข้อมูลในเว็บไซต์ แผ่นพับ แผนที่ที่แสดงรายละเอียดของอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกกับแหล่งธรณีวิทยาและแหล่งอื่นๆ ทั้งนี้ อุทยานธรณีโลกของยูเนสโกควรต้องมีการร่วมมือกันอย่างชัดเจน
4. เครือข่าย (Networking) อุทยานธรณีโลกของยูเนสโกไม่ได้มีเฉพาะความร่วมมือของชุมชนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความร่วมมือกับอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกแห่งอื่นๆ ผ่านเครือข่ายอุทยานธรณีโลก (GGN : Global Geoparks Network) และเครือข่ายอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกในภูมิภาค เพื่อเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก การทำงานร่วมกับพันธมิตรนานาชาติสามารถอาศัยเครือข่ายอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก และการเป็นสมาชิกของ GGN เป็นหน้าที่ของอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกที่จะต้องเข้าร่วม ซึ่งจะทำงานร่วมกันอย่างไร้พรมแดน อุทยานธรณีโลกของยูเนสโกจะทำงานเพื่อเพิ่มความเข้าใจในกลุ่มชุมชนต่างๆ และยังช่วยให้เกิดกระบวนการสร้างความสันติสุขอีกด้วย