อุทยานธรณีเชียงราย

จังหวัดเชียงราย ได้มีประกาศจังหวัดเชียงราย ลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ เรื่อง จัดตั้งอุทยานธรณีเชียงราย (Chiang Rai Geopark) โดยประกาศให้พื้นที่ในเขตอำเภอแม่สาย อำเภอแม่จัน และอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีพื้นที่รวมทั้งหมด ๑,๔๓๔ ตารางกิโลเมตร เป็นอุทยานธรณีระดับท้องถิ่น โดยใช้ชื่อหน่วยงานในการบริหารจัดการว่า อุทยานธรณีเชียงราย (Chiang Rai Geopark)  โดยมีประกาศแต่งตั้งให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เป็นผู้อำนวยการอุทยานธรณีเชียงราย (เอกสารหมายเลข ๓.๕-๓) และแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการอุทยานธรณีเชียงราย เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนอุทยานธรณีเชียงรายสู่ระดับที่สูงขึ้นไป โดยมีอธิบดีกรมทรัพยากรธรณีเป็นที่ปรึกษา ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเป็นประธานกรรมการ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงราย และผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรณีเขต ๑ เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม

          อุทยานธรณีเชียงรายมีความสำคัญโดดเด่นทางธรณีวิทยา ๓ ประการ ดังนี้

               ๑) ธรณีพิบัติภัยรอยเลื่อนแม่จัน ซึ่งเชื่อมโยงกับการล่มสลายของเวียงหนองหล่ม

               ๒) การเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกสองยุค (ยุคไทรแอสซิคและเทอเชียร์รี) (a) แผ่นเปลือกโลกไซบูมาสุเคลื่อนที่ชนแผ่นเปลือกโลกอินโดจีน (b) การยกตัวสูงขึ้นของเทือกเขาอันเนื่องมาจากแผ่นเปลือกโลกอินเดีย-ออสเตรเลีย ชนแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย ก่อให้เกิดภูมิประเทศที่หลากหลายมีความสวยงามและเกี่ยวพัน ไปถึงพืชเศรษฐกิจอันเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดเชียงรายหรือที่เรียกว่าพืช GI

               ๓) ภูมิประเทศหินปูนและระบบถ้ำ ที่มีความสวยงามและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดเชียงราย โดยมีเรื่องราวเชื่อมโยงกับการกู้ภัยระดับโลกที่เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา

         แนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานของอุทยานธรณีเชียงราย โดยกรมทรัพยากรธรณี ร่วมกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว (องค์การมหาชน) และคณะกรรมการอำนวยการอุทยานธรณีเชียงราย

                 ๑) สร้างการรับรู้และการมีตัวตนของอุทยานธรณีให้กับประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งประชาสัมพันธ์อุทยานธรณีให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้นผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ

                 ๒) เร่งดำเนินการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการอุทยานธรณีเชียงรายให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อวางแผนผลักดันให้เป็นอุทยานธรณีระดับประเทศต่อไปในอนาคต

                 ๓) จัดตั้งคณะทำงานที่เป็นรูปธรรม เพื่อวางแผนผลักดันให้เป็นอุทยานธรณีระดับประเทศต่อไปในอนาคต

© 2021 All Rights Reserved.